นายปราโมทย์ เพ็ชรคล้าย ผู้อำนวยการโรงเรียนเขาดินประชานุกูล อ.เขาพนม จ.กระบี่ เปิดเผยว่า ตำบลเขาดิน เป็นตำบลเล็กๆ ในอำเภอเขาพนม จังหวัดกระบี่ ส่วนมากปลูกปาล์มน้ำมันเป็นพืชเศรษฐกิจ เมื่อเริ่มลงปลูกกล้าปาล์มใหม่ๆ จะมีพื้นที่ร่องปาล์มว่าง ชาวบ้านจึงนิยมปลูกข้าวไร่ ไว้สำหรับหุงกินในครัวเรือน "ข้าวหอมบอน" เป็นพันธุ์ข้าวพื้นเมือง เมื่อนำไปหุงจะมีกลิ่นหอมเหมือนกลิ่นของเผือก (ทางภาคใต้เรียกเผือกว่า "บอนหรือหัวบอน" )รสชาติอร่อย ไม่นิ่มและแข็งจนเกินไป การทำไร่ของชาวบ้านปัจจุบันแตกต่างไปจากเดิม คือเน้นการใช้เครื่องจักรเข้ามา ทำให้ขาดเสน่ห์ของชุมชน ดังนั้นกลุ่มเยาวชนเด็กหลังเขาจึงร่วมกันจัดโครงการ ข้าวใหม่ ไร่เราที่เขาดินขึ้น โดยไปขอเรียนรู้ศาสตร์และภูมิปัญญาโบราณวิถีเดิมของการทำข้าวไร่ จากปราชญ์ชุมชน เกิดกระบวนการเรียน ให้เกิดการตื่นรู้และลงมือทำจริง
นายศิริ ศิริรักษ์ ครูโรงเรียนเขาดินประชานุกูล อ.เขาพนม จ.กระบี่ กล่าวว่า ครั้งแรกที่ได้เดินทางมารับตำแหน่งใหม่ๆ ติดใจข้าวต้มข้าวหอมบอนมากและตั้งใจอยากศึกษาข้าวชนิดนี้ ประจวบกับทราบข่าวโครงการจิตสำนึกรักเมืองไทยปีที่ 13 ของสำนักงานปลัดกระทรวงกลาโหมจัดขึ้น และเคยส่งโครงการร่วมประกวดหลายปีแล้วแต่ยังไม่ได้รางวัล ครั้งนี้จึงตั้งใจลองส่งดูอีกสักครั้ง จึงได้ร่วมกันคิดกับนักเรียนและนำมาผนวกกันจนกลายเป็นโครงการ "ข้าวหอมบอน" โดยกลุ่มเด็กหลังเข้า โรงเรียนเขาดินประชานุกูล จนคว้าทุนดำเนินโครงการมาได้สำเร็จ ได้รับเงินรางวัล จำนวน 35,000 บาท ที่คัดเลือกโครงการสาธารณะประโยชน์ของเยาวชนจากทั่วประเทศทั้งหมดกว่า 200 โครงการ
การปลูกข้าวหอมบอนในครั้งนี้ ผ่านกระบวนการ 5 สุข คือ 1.สุข หนำข้าวให้หนำใจ คือ การทำข้าวไร่แบบเก่าเรียกว่าการแทงสักหนำข้าว ใช้กำลังคนแทนเครื่องจักร เรียนรู้ภูมิปัญญาชาวบ้าน 2.สุข ดายหญ้าอย่าเดียวดาย คือ การดูแลไร่ ข้าวที่กำลังงอก ช่วยกันถอนวัชพืช ซ่อมกล้าข้าว หลุมไหนเยอะเกินก็ถอนย้ายไปปลูกหลุมที่งอกน้อย 3.สุข ห่มดินที่เขาดิน คือ คือการดูแลข้าวโดยใช้ธรรมชาติดูแลกันเองเน้นการรักษาดิน 4.สุขเกี่ยวก้อยมาเกี่ยวข้าว คือ ใช้แกระเกี่ยวข้าวตามวิถีชาวบ้าน เน้นกำลังคนมากกว่าเครื่องจักร และ5.สุขจากรวงเป็นเม็ดพราว คือ เน้นกระบวนการนวดข้าว ตำข้าวด้วยมือหลังจากเมื่อได้ผลผลิตมาแล้ว จะนำมาจัดการ อีกทั้ง ยังยังเป็นไปตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงด้วยหลัก 3 อ.คือ อ.อิ่ม คือ นำข้าวสารที่ได้มามอบให้ชาวบ้านที่ขาดแคลนข้าวสารในชุมชนเขาดิน อ.ออม เก็บข้าวเปลือกไว้เป็นเมล็ดพันธุ์ในคลังข้าว ชาวเขาดินสามารถมายืมข้าวได้ และ อ.อุทิศ มอบข้าวสารให้ชุมชนชาวเลเกาะลันตา กิจกรรม ปลูกที่เขาดิน หุงกินที่ลันตา
ทางด้าน นายสุจินต์ จุลเพชร ปราชญ์ชาวบ้าน ม.2 บ้านหนองบัว ต.เขาดิน อ.เขาพนม จ.กระบี่ กล่าวว่า ตนเองรู้สึกดีใจที่โรงเรียนบ้านเขาดินประชานุกูล ได้นำเด็กนักเรียนมาเรียนรู้การปลูกข้าวหอมบอนในวิถีแบบดังเดิม โดยไม่ต้องใช้เครื่องจักรกล ซึ่งตนเองได้สอนเด็กๆ เริ่มตั้งแต่ปลูกข้าวด้วยการหนำข้าว จนเก็บเกี่ยวด้วยแกละและเคียวในครั้งนี้ ซึ่งเป็นภาพที่เลือนลางจางหายไปจากวิถีชีวิตของคนในปัจุบัน จนเรียกได้ว่าหาดูได้ยาก ตนเองดีใจเป็นอย่างยิ่งที่ได้ถ่ายทอดภูมิปัญญานี้ให้กับเด็กๆ ทำให้เด็กๆ ได้เรียนรู้ในบริบทของการทำนา และขอบคุณโครงการ จิตสำนึกรักเมืองไทยของสำนักงานปลัดกระทรวงกลาโหม สำนักงานปลัดกระทรวงกลาโหม ที่ได้ร่วมกับ กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงมหาดไทย และ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ที่ได้จัดโครงการดังกล่าว ให้โอกาสเด็กๆ และชุมชนได้เรียนรู้สัมผัสประสบการณ์ที่ดีในครั้งนี้