รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ลงพื้นที่ตรวจราชการโครงการสะพานเชื่อมเกาะลันตา ในความรับผิดชอบของกรมทางหลวงชนบท เชื่อมโยงโครงข่ายคมนาคม ส่งเสริมการท่องเที่ยวจังหวัดกระบี่ ยกระดับในการเดินทางให้กับประชาชน

          วันที่ 12 พฤศจิกายน 2564 นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม พร้อมด้วยนายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา และผู้บริหารในสังกัดกระทรวงคมนาคม ลงพื้นที่ตรวจราชการโครงการสะพานเชื่อมเกาะลันตา ตำบลเกาะกลาง - ตำบลเกาะลันตาน้อย อำเภอเกาะลันตา จังหวัดกระบี่ ซึ่งอยู่ในความรับผิดชอบของกรมทางหลวงชนบท (ทช.) เชื่อมต่อโครงข่ายคมนาคมการขนส่งระหว่างเกาะลันตาสู่แผ่นดินใหญ่ โดยตรวจจุดเริ่มต้นโครงการฯ และลงเรือตรวจแนวเส้นทางก่อสร้างสะพาน พร้อมทั้งพบปะประชาชน เพื่อรับฟังความคิดเห็นในการพัฒนาและแก้ไขปัญหาด้านการคมนาคมขนส่งในพื้นที่ ณ ตำบลเกาะลันตาน้อย อำเภอเกาะลันตา จังหวัดกระบี่
         นายอภิรัฐ ไชยวงศ์น้อย อธิบดีกรมทางหลวงชนบท เปิดเผยว่ากรมทางหลวงชนบทได้ขานรับนโยบายของนายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเชื่อมโยงโครงข่ายการคมนาคมให้มีความสะดวกและปลอดภัย เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีของประชาชน สนับสนุนการพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืน โดยเกาะลันตาเป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่มีชื่อเสียง มีความสำคัญทางด้านเศรษฐกิจแห่งหนึ่งของจังหวัดกระบี่ ในปี 2561 มีปริมาณนักท่องเที่ยวเดินทางมาเกาะลันตากว่า 2,233,757 คนต่อปี ซึ่งการเดินทางไปเกาะลันตานั้นมีความยากลำบาก ต้องใช้แพขนานยนต์ข้ามฝั่งจากแผ่นดินใหญ่ สามารถบรรทุกได้น้อย ใช้ระยะเวลาในการเดินทางนาน ส่งผลให้การจราจรติดขัดในช่วงวันหยุดหรือช่วงเทศกาล ทั้งนี้ เพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าว เชื่อมโยงโครงข่ายคมนาคมและการขนส่งให้มีความสมบูรณ์ เพิ่มประสิทธิภาพความปลอดภัย ลดค่าใช้จ่าย ลดระยะทางและระยะเวลาในการเดินทางจาก 2 ชั่วโมง เหลือเพียง 2 นาที สามารถอพยพประชาชนได้รวดเร็วในกรณีเกิดภัยพิบัติ อีกทั้งยังเป็นการส่งเสริมการท่องเที่ยว เพิ่มศักยภาพในการพัฒนาพื้นที่ กระจายความเจริญสู่ท้องถิ่น ทช.จึงดำเนินโครงการสะพานเชื่อมเกาะลันตา ตำบลเกาะกลาง - ตำบลเกาะลันตาน้อย อำเภอเกาะลันตา จังหวัดกระบี่ โดยมีแนวเส้นทางเริ่มต้นจากทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 4206 (กม.ที่ 26+620) ตำบลเกาะกลาง ไปบรรจบกับทางหลวงชนบท สาย กบ.5035 ตำบลเกาะลันตาน้อย ระยะทางรวม 2,240 เมตร รูปแบบการก่อสร้างสะพานเป็นรูปแบบผสมผสานระหว่างสะพานคานขึง (Extradosed Bridge) และสะพานคานยื่น (Balanced Cantilever Bridge) ความยาวสะพาน 1,825 เมตร ขนาด 2 ช่องจราจร ช่องจราจรละ 3.75 เมตร ไหล่ทางข้างละ 2.5 เมตร พร้อมถนนต่อเชื่อมทั้งสองฝั่งรวมระยะทาง 415 เมตร ซึ่งผลการศึกษาด้านการคมนาคมขนส่งพบว่ามีความเหมาะสมเพียงพอต่อความต้องการเดินทางใน 30 ปีข้างหน้า และมีความคุ้มค่าด้านเศรษฐกิจในการลงทุน คาดว่าจะใช้งบประมาณในการก่อสร้างจำนวน 1,648 ล้านบาท โดยใช้งบประมาณผูกพันปีงบประมาณ 2566 - 2569
         ปัจจุบันโครงการได้ดำเนินการออกแบบและจัดกรรมสิทธิ์ที่ดินแล้วเสร็จ ขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณา ของคณะกรรมการผู้ชำนาญการพิจารณารายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (คชก.) คาดว่าจะได้รับความเห็นชอบรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) จากคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ (กก.วล.) ต้นปี 2565 และมีแผนก่อสร้างในปี 2566 – 2568 คาดว่าจะสามารถเปิดให้ประชาชนใช้สัญจรได้ในปี 2569
 


image รูปภาพ
image
image
image
image
image
image
image
image
image
image
image
image

Line

คะแนนโหวต :
StarStarStarStarStar